เรื่อง ภาพ Nihongo Koi Shop
การปรับพื้นที่บ่อปลาขนาดเล็ก ที่มากับบ้านจัดสรร
นิตยสาร Koi MAX ในฉบับนี้จะเน้นในเรื่องเกี่ยวกับปลาเล็กอย่างโตไซ ซึ่งในส่วนที่ผ่านมาท่านผู้อ่านคงได้ทราบถึงเทคนิคและแนวทางในการเลี้ยงปลาเล็กกันไปบ้างแล้ว แต่ยังมีอีกหนึ่งเรื่องที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการเลี้ยงปลาเล็กให้มีคุณภาพ นั่นคือบ่อปลาและระบบการจัดการภายในบ่อปลาครับ
ทาง” นิฮองโกะ โค่ย ช็อป “ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างบ่อปลาและปรับปรุงระบบบ่อปลา ทั้ง ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ทางเราได้มีโอกาศ พูดคุยและสอบถาม แบ่งปันประสบการณ์ให้กับท่านผู้อ่านทุกๆท่าน เพราะที่ผ่านมา เราได้รับทราบถึงปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับบ่อปลามาพอสมควร โดยเฉพาะในส่วนของปลาเล็กนั้น ปัญหาที่พบเจอบ่อยๆ คือบ่อที่ถูกสร้างมาพร้อมกับโครงการบ้านจัดสรร โดยบ่อเหล่านั้นไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อการเลี้ยงปลาคาร์พโดยเฉพาะ วันนี้เราจึงขอพูดคุยในเรื่องของการปรับปรุงบ่อปลาขนาดเล็ก การเลี้ยงปลาไซด์เล็กเพื่อวัตถุประสงค์ ต่างๆ
บ่อที่ถูกสร้างขึ้นตามโครงการบ้านจัดสรรต่างๆ นั้น ส่วนมากจะเรียกว่าเป็นของแถมจากโครงการ ซึ่งหมายถึงการก่อบ่อหรือขุดบ่อเพื่อเอาไว้ทำเป็นบ่อน้ำตกหรือบ่อบัวประดับบ้าน ไม่ใช่บ่อที่มีการออกแบบมาเพื่อเลี้ยงปลาคาร์พ ดังนั้นบ่อส่วนใหญ่ จะเป็นบ่อระบบปิด คือไม่มีการวางระบบสะดือบ่อ ไม่มีการวางท่อระบายน้ำ หรือสร้างช่องกรองใดๆ ดังนั้นส่วนใหญ่ เวลาจะเปลี่ยนถ่ายน้ำก็ต้องสูบน้ำออกให้หมดเพื่อเติมน้ำใหม่ลงไป ซึ่งแบบนี้เรียกว่าระบบปิด
แต่เมื่อจุดประสงค์ของเราคือการทำบ่อเลี้ยงปลาคาร์พ เราก็ต้องมีการจัดวางระบบให้เหมาะสมกับการเลี้ยงปลา ซึ่งจะมีอยู่ 2 รูปแบบ คือปรับปรุงบ่อเดิมให้เหมาะสมต่อการเลี้ยงปลาคาร์พ หรือ ทุบบ่อเก่าทิ้งแล้วทำบ่อขึ้นมาใหม่
ปรับปรุงบ่อระบบปิด
บ่อในระบบปิด หรือบ่อที่ไม่ได้มีระบบรองรับ การเลี้ยงปลาคาร์พ คือมีแต่บ่อ เราสามารถใช้ ระบบถังกรองสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไปมาใช่ได้ เป็นระบบการกรอง มีปั๊มน้ำ ดูดน้ำขึ้นมากรอง อุปกรณ์ที่ใช้ในถังกรอง อาจเป็นใยกรอง ฟิลเตอร์แมท อวนเขียว ไบโอบอลหรืออุปกรณ์ใยสังเคราะห์ต่างๆ แล้วแต่จะหาได้ ทั้งนี้ระบบนี้อาจะรองรับความต้องการในการเลี้ยงได้ไม่เต็มที่นัก แต่ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเรียนรู้วิธีการเลี้ยงปลาคาร์พ
การทุบบ่อเก่าเพื่อทำบ่อใหม่ขึ้นมา
สำหรับผู้เลี้ยงที่เริ่มจริงจังกับการเลี้ยงปลามากขึ้น อาจเลือกใช้วิธีนี้ เพราะสามารถกำหนดรูปทรงของบ่อ ขนาดของบ่อ และความกว้าง ยาว ลึกของบ่อได้ตามประสงค์ ซึ่งบ่อปลาเดิมนั้น ส่วนมากไม่ใช่ปัญหาเรื่องขนาดที่เล็ก แต่เป็นปัญหาในเรื่องของความลึกของบ่อที่ไม่ไดมาตรฐานการเลี้ยงปลา โดยมากที่พบ บ่อปลาสำเร็จรูปของหมู่บ้านจะมีความลึกของบ่อไม่ถึง 1 เมตร (30-80 เซนติเมตร) ซึ่งไม่เหมาะต่อการเลี้ยงปลามากนัก แต่แน่นอนว่าการสร้างบ่อใหม่ขึ้นมาย่อมมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ได้มาซึ่งระบบและรูปแบบที่ตรงใจมากขึ้น
สำหรับบ่อที่มีความลึกพอสมควร สามารถใช้บ่อเดิม โดยอาจกั้นช่องกรองขึ้นมาใหม่ วางสะดือบ่อใหม่ และกั้นกรองแบบง่ายๆ ล้นลอด ที่นิยมใช้กัน วัสดุกรองก็แล้วแต่จะใช้ ตามงบประมาณ มีให้เลือก หลากหลาย แต่ที่จะต้องเน้นคือระบบ ท่อชักน้ำทิ้ง ในทุกช่องกรอง ถ้าไม่ใช่บ่อที่ยกสูงขี้นจากพื้นมากนัก ก็ควรที่จะมีบ่อเก็บตะกอน เพื่อชักน้ำทิ้งมาพักไว้ แล้วใช้ ปั๊มน้ำดูดตะกอนทิ้ง สามารถทำได้บ่อยๆ ยิ่งดี
เช่นกัน การทำบ่อใหม่ขึ้นมานี้ หากมีพื้นที่ไม่มาก เช่นเป็นทาวน์โฮม ก็สามารถใช้เป็นอิฐก่อในการทำบ่อขึ้นมาก็ได้ และสามารถจัดวางระบบกรองให้ดูกลมกลืนกับบ่อได้ ทำให้ดูสวยงามกว่าการใช้ถังกรองแยกต่างหาก
ขนาดเริ่มต้นของบ่อปลาขนาดเล็ก
ขนาดของบ่อปลาที่เหมาะสมกับกรเลี้ยงปลาคาร์พ อย่างน้อยควรจะมีขนาด 3-5 ตัน หรือเป็นบ่อทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด กว้าง1- 2 เมตร ยาว 2-3 เมตร ลึก 1-1.5 เมตร ทั้งนี้ก็ควรจะดูจำนวนปลาที่เลี้ยงด้วยว่าสอดคล้องกับขนาดของบ่อปลาหรือไม่ สำหรับบ่อรูปทรงอิสระอย่างทรงตัว L หรือทรงเลข แปด ซึ่งอาจจะต้องมีการจัดวางระบบที่ดีพอ ส่วนบางท่านที่เลี้ยงปลาในบ่อผ้าใบทรงกลมก็สามารถเลี้ยงปลาได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่เหมาะสมต่อการเลี้ยงในระยะยาว ด้วยขนาดของบ่อ ระบบบ่อ รูปทรงของบ่อ ตลอดจนวัสดุของผ้าใบที่ควบคุมอุณหภูมิได้ไม่ดีนัก เมื่อเทียบกับบ่อปูน
ข้อดีของบ่อปลาขนาดเล็ก
หากจะมองในมุมบวก การมีบ่อปลาขนาดเล็กก็มีข้อดีในตัวเหมือนกัน เพราะส่วนมากระบบการจัดการในบ่อเล็กจะเป็นแบบต้องคอยดูแลเอง ทำให้ผู้เลี้ยงมีความใกล้ชิดกับปลา ได้ศึกษาว่าระบบแบบไหนถึงจะเหมาะสมต่อการเลี้ยงปลาของเรา เรียกว่าได้ศึกษาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการดูแลบ่อปลาขนาดเล็ก
ข้อต่อมาคือการจัดการของบ่อเล็กที่ทำได้ง่าย อย่างเข่นการถ่ายเทน้ำหรือของเสียที่สะดวกและรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีบ่อปลาขนาด 50 ตัน แต่ไม่ได้จัดวางระบบที่ดีพอ หากบ่อปลาเกิดมีปัญหาเรื่องน้ำเสียขึ้นมา การจะเดรนน้ำทิ้งออกไปสัก 10 เปอร์เซ็นต์ หรือ 5 ตันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ในทางกลับกัน ถ้าบ่อเลี้ยงมีขนาด 5 ตัน การเดรนน้ำ 10 เปอร์เซ็นต์หรือ 500 ลิตร ก็ถือเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า และทำได้เร็วกว่า เพราะในการเลี้ยงปลาเล็กนั้น การล้นน้ำทิ้งบ่อยๆ จะช่วยให้ปลามีความสดชื่นและมีผิวที่สวย ตรงนี้เป็นข้อได้เปรียบของคนเลี้ยงปลาบ่อเล็ก
ข้อดีอีกประการก็คือ หากท่านเป็นคนที่ชอบเลี้ยงปลาคาร์พขนาดเล็ก และชอบการประกวดปลาไซด์เล็ก การมีบ่อเล็กไว้สัก 1 บ่อก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะปลาคอนดิชั่นเพื่อเตรียมส่งประกวด การเลี้ยงแยกในบ่อเล็กจะสามารถควบคุมการเจริญเติบโตของปลาได้ดีกว่าบ่อใหญ่ ทำให้ปลาไม่โตจนเกินไป เหมาะกับท่านที่ชื่นชอบการประกวดปลาไซด์เล็ก คือทำให้ไซด์ของปลาดูเล็ก แต่มีความสวยงามในเรื่องของสีสันที่สดเข้ม เพราะปลาคาร์พเมื่อโดนเลี้ยงในสถานที่เล็กๆ ก็จะทำให้ปลาเจริญเติบโตช้า แต่ยังมีการพัฒนาในเรื่องของคุณภาพสีอย่างต่อเนือง
สำหรับข้อเสียก็คงเป็นเรื่องของข้อจำกัดในการเจริญเติบโตของตัวปลา กล่าวคือ บ่อปลาขนาดเล็กไม่สามารถเลี้ยงปลาให้โตได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากบ่อขนาดเล็กจะมีพื้นที่ในการว่ายน้ำที่น้อย อีกทั้งยังมีความลึกที่ไม่มากพอต่อการพัฒนาโครงสร้างของปลา การเลี้ยงปลาในบ่อขนาดเล็กจึงไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องของขนาดปลาได้ แต่อย่างน้อยการเริ่มต้นเลี้ยงปลาในบ่อเล็กก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ถ้าหากท่านใดที่เริ่มจริงจังกับการเลี้ยงปลามากขึ้น อาจจะพัฒนาด้วยการทำบ่อปลาเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับขนาดของปลาที่จะเลี้ยง แยกปลาที่มีขนาดใกล้เคียงกัน อยู่บ่อเดียวกัน หมายถึงปลาเล็กไม่เลี้ยงรวมกับปลาขนากใหญ่ ปลาขนาดใหญ่ แยกไปเลี้ยงอีกบ่อ เพื่อสะดวกในการจัดการ ส่วนเทคนิคการเลี้ยงผมคงไม่ขอเอ่ยถึง แต่เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงได้ความรู้จากคอลัมน์ก่อนหน้านี้ไปบ้างแล้ว
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นเลี้ยงปลาก็ดี หรือเป็นนักเลี้ยงปลาเล็กมืออาชีพก็ดี ยังไงก็ต้องเลี้ยงปลาในบ่อเหมือนๆ กัน หวังว่าบทความของนิฮองโกะในส่วนนี้ จะช่วยให้ทุกท่านมีความเข้าใจในการจัดวางรูปแบบและระบบบ่อปลาไม่มากก็น้อยครับ
ปรึกษาปัญหาเรื่องบ่อปลาได้ที่ www.facebook.com/ร้าน นิฮองโกะ โค่ย ชอป